ข้าวหอมมะลิ ข้าวสารข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice) เป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ทำให้ข้าวไทยเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลก ต้นกำเนิดหอมมะลิ ข้าวเป็นอาหารหลักของพลโลกมานานนับพันปี บางภูมิภาคนำข้าวไปแปรรูปเป็นแป้งเพื่อปรุงแต่ง เป็นอาหาร แต่สำหรับภูมิภาคเอเชียเราบริโภคข้าวในรูปลักษณ์ดั้งเดิมและเรามีข้าวหลากหลายพันธุ์ให้เลือก แต่สำหรับ ประเทศไทยแล้วข้าวหอมมะลิ ถือว่าเป็นสุดยอดของข้าวและกำลังเป็นที่ต้องการของผู้นิยมบริโภคข้าวทั่วโลกในชื่อ Jasmine Rice หากย้อนไปในอดีตยังไม่มีใครรู้จักข้าวหอมมะลิ เรารู้จักแต่ข้าวขาวดอกมะลิ ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์เบา เป็นข้าวพื้นเมืองที่พบและรู้จักกันในอ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่นยามหุง กลิ่นจะหอมชวน ให้รับประทานไม่เหมือนพันธุ์ข้าวใดในโลก ผู้ที่ค้นพบและทำให้ข้าวขาวดอกมะลิเป็นที่รู้จักของโลกคือ ดร.สุนทร สีหะเนิน ข้าวหอมมะลิ ชอบ ดินปนทราย พื้นที่เป็นนาดอน ใช้น้ำฝนในการเพาะเลี้ยงนาที่ไหนเป็นอย่างนี้ จะได้ผลผลิตดีที่สุด เมล็ดข้าวจะยาว เรียว บิดนิดๆ ขาว ใส พอแกะออกมาเป็นข้าวกล้อง จะเป็นสีขาว ใส ที่สำคัญคือที่เมล็ดไม่มีท้องไข่ มีจมูกข้าวเล็ก แต่นาที่ไหนใช้การเพาะเลี้ยงแบบวิดน้ำ ก็จะได้แค่ ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมเหลือง
ที่มา : พัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎษ. 2557,6
ข้าวหอมมะลิในปัจจุบัน ที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และ พันธุ์ กข.15 ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวหอมมะลิราคาตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เนื่องจาก ข้าวพันธุ์ปทุมธานี1 ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 80-100 ถัง/ไร่ ปลูกได้หลายครั้งต่อปี และสามารถปลูกได้ดีในที่ลุ่มบริเวณที่ราบภาคกลาง ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 105 นั้นจะให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 30-40 ถัง/ไร่ และปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ชาวนา เน้นการปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 มากกว่า พันธุ์ปทุมธานี 1 แม้ว่าจะมีความหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ